วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552


หวัดใหญ่ 2009” ไวรัสร้าย ปราบง่ายนิดเดียว

หลายคนยังคงไม่หายจากอาการตื่นกลัวกับเรื่องราวการระบาดของเชื้อร้าย “หวัดใหญ่ 2009” ถึงแม้หลายหน่วยงานจะออกมารณรงค์ ให้ความรู้เรื่องการป้องกัน ต่างๆนาๆ แต่ประชาชนก็ยังคงอยู่ในอาการหวาดระแวงเหมือนเดิม...

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 10 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นักระบาดวิทยาแถวหน้าของประเทศไทย บอกถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ว่า การที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในระยะแพร่ระบาด จากรายงานพบผู้ติดเชื้อแล้วถึง 1,054 ราย ใน 20 จังหวัด และคาดว่าจะมีการแพร่ระบาดขยายไปในจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย แต่!!! นั่นอาจไม่ใช่ตัวเลขของผู้ป่วยทั้งหมด เนื่องจากยอดผู้ป่วยที่ได้นั้น เป็นตัวเลขจากผู้ที่เดินทางมาตรวจที่คลินิกหรือโรงพยาบาลเท่านั้น และก็เป็นเรื่องยากที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะค้นหายอดผู้ป่วยรวมทั้งหมดได้

ก่อนหน้านี้หลายหน่วยงานต่างออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ว่า มีความรุนแรงเหมือน "ไข้หวัดใหญ่ตามฤดู" โดยจะติดต่อจากคนสู่คน ด้วยการไอ-จาม ซึ่งเชื้อชนิดนี้มีระยะฟักตัว 1-4 วัน อาจนานถึง 7 วัน ระยะแพร่เชื้อก่อนมีไข้ 1 วันไปจนถึงมีอาการแล้ว 7 วัน

โดยอาการของโรค จะมีไข้ ปวดศีรษะ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เบื่ออาหาร กินน้อย หอบ และร้อยละ 95 ของผู้ป่วยจะสามารถหายป่วยได้เอง ภายใน 3-5 วัน โดยไม่ต้องทานยาต้านไวรัส

ส่วนผู้ที่ไม่สามารถหายได้เองหรือเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อยู่ในหมู่กลุ่มเสี่ยง นั่นคือผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนและโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน หญิงมีครรภ์ รวมไปถึงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีและ ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เพราะคนกลุ่มนี้ร่างกายจะอ่อนแอกว่าคนอื่นๆ


สำหรับในประเทศไทยนั้น ตั้งแต่พบผู้ป่วยรายแรกจนถึงตอนนี้ ยังไม่พบผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงแต่อย่างใด จึงเป็นเหตุทำให้หลายคนมีคำถามเกิดขึ้นในใจ ว่าแล้วทำไมถึงต้องมีการป้องกันอย่างเข้มงวด จนเหมือนเป็นโรคร้ายแรง!!!

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ให้เหตุผลว่า เนื่องมาจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 มีโครงสร้างที่ต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ พอสมควร ทำให้มีการแพร่กระจายที่รวดเร็วมากจากคนสู่คน เชื้อนี้สามารถแพร่ได้ไกลถึง 1 เมตร จากการไอ-จามของผู้ป่วย เมื่อเราไอหรือจามออกมา เชื้อโรคเหล่านั้นก็จะตกอยู่บริเวณใกล้เคียง เช่น โต๊ะหรือเสื้อผ้า และจะอยู่ได้นานเกือบชั่วโมง ยิ่งถ้าเป็นน้ำมูกแล้วล่ะก็ นานกว่าถึง 2-3 ชั่วโมง เป็นเหตุทำให้เชื้อสามารถกระจายไปได้เกือบทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น การที่จะห้ามคนเราไม่ให้ป่วยนั้นคงยาก การดูแล ป้องกัน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก โดยนพ.คำนวณ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า สิ่งแรกที่ต้องทำหากพบผู้ติดเชื้อ คือต้องแยกผู้ป่วยออกจากผู้อื่น หากเป็นเด็กนักเรียน ครูอาจารย์ควรช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบนักเรียนผิดปกติ เข้าข่ายเป็นไข้หวัด ควรแยกออกจากเด็กอื่นๆ หรือให้กลับบ้านและหยุดพักรักษาตัวอย่างน้อยเป็นเวลา 1 อาทิตย์

ในวัยทำงานหรือคนอื่นๆ ก็เช่นกัน หากสงสัยว่าตนเองเป็นไข้ ต้องหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้อื่น ลางาน3-7 วัน และห้ามใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า รวมไปถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสุรา หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

และที่จะลืมไม่ได้เลยสำหรับผู้ป่วย นั่นคือ “หน้ากากอนามัย” เพราะเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำลาย น้ำมูกของผู้ป่วย หากไม่ใส่หน้ากากเวลาไอ-จามเชื้อโรคจะติดอยู่ที่มือ เมื่อไปจับสิ่งของ ไวรัสก็จะติดอยู่นั่นและรอให้คนอื่นมารับเชื้อไป การใส่หน้ากากจึงเป็นตัวป้องกันการแพร่เชื้อได้ดีที่สุดมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญหน้ากากอนามัยไม่ได้เป็นเพียงแค่อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนตัวที่บ่งบอกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของคนเราได้อีกด้วย

แต่ก่อนที่เราจะสวมหน้ากากอนามัยนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำ คือการล้างมือให้สะอาดเสียก่อน แล้วจึงสวม โดยสวมให้คลุมทั้งจมูกและปาก หากใช้หน้ากากแบบกระดาษควรเปลี่ยนวันละครั้งและทิ้งในถังขยะที่ปิดมิดชิด ถ้าให้แบบผ้า ควรหมั่นทำความสะอาดและตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อ ที่สำคัญหากชุรุดหรือเปื้อนควรเปลี่ยนชิ้นใหม่ทันที

สำหรับผู้ที่ยังคงกังวลกับการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่กล้าออกไปข้างนอกในที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดหรือโรงหนัง ขอบอกว่า!! สบายใจได้เลย เพราะ 70-80 % จากผู้ติดเชื้อนั้น จะติดจากผู้ที่อยู่ในสถานที่ที่ต้องใช้เวลาอยู่รวมกันเป็นเวลานาน เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร และที่สำคัญจะติดจากคนใกล้ชิดเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย





แต่จะให้ดีที่สุด!!! ในทางป้องกันไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ติดเชื้อแล้วและที่ยังไม่ติด ควรล้างมือให้สะอาดอยู่บ่อยๆ เพราะการล้างมือจะช่วยไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคจากคนสู่คนได้ดีที่สุด ในผู้ที่ติดเชื้อนั้นควรล้างมือทุกครั้งที่ไอหรือจาม เพราะเชื้อโรคจะติดอยู่ตามมือและบริเวณใกล้เคียง ส่วนผู้ที่ปกติดีควรล้างมือวันละ 6-10ครั้ง/วันหรือทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำและรับประทานอาหารทุกมื้อ เพราะเชื้อโรคจะอยู่ในเกือบทุกๆที่ที่เราสัมผัส หากเราใช้มือจับสิ่งของเข้าปากหรือโดยบริเวณดวงตา มีเปอร์เซ็นต์สูงที่เราจะได้รับเชื้อหวัดอย่างไม่คาดคิด

ส่วนวิธีล้างมือที่ถูกต้องนั้น คือคุณใช้เวลาเพียง 30 วินาที หรือแค่ทำตาม 7 ขั้นตอนง่ายๆ ควบคู่ไปกับการฮัมเพลงช้างในใจสัก 1 รอบขณะล้างมือ อย่างที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. รณรงค์อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งวิธีการล้างมือก็เพียงเอาฝ่ามือถูฝ่ามือ จากนั้นเอาฝ่ามือถูหลังมือ แล้วนำนิ้วมือถูซอกนิ้ว ต่อด้วยการเอาหลังนิ้วมือถูฝ่ามือ และถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ เอาปลายนิ้วถูขวางฝ่ามือ ปิดท้ายด้วยการเอามือถูรอบข้อมือ

แต่ถ้าคุณคิดว่าตนเองไม่สามารถ “เจียดเวลา” อันเล็กน้อยของคุณเพื่อไปล้างมือได้นั้น ปัจจุบันมีตัวช่วยอย่าง “เจล” ล้างมือ ซึ่งมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่จะช่วยคุณพิชิตเชื้อโรคร้ายที่ติดอยู่ที่มือได้ อีกทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาบอกแล้วว่าสามารถช่วยฆ่าเชื้อโรคได้จริงและไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดสามารถจับต้องการอาหารและรับประทานได้โดยไม่มีสารเคมีตกค้างหลงเหลืออยู่

หากคุณไม่อยากตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว และไม่อยากติดเชื้อ “หวัด 2009” แล้วล่ะก็!! เพียงคุณ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือสม่ำเสมอและออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ใช่เพียง “หวัด 2009”เท่านั้น โรคร้ายอื่นๆ ก็จะไม่สามารถมาทำร้ายคุณได้อีกด้วย






เรื่องโดย : ณัฐภัทร ตุ้มภู่ Team Content http://www.thaihealth.or.th/



Update 26-06-52



อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฐภัทร ตุ้มภู่







เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไข้หวัดใหญ่ 2009 ป้องกันได้แค่ใส่หน้ากาก
ป้องกันตัวให้ปลอดภัยจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
6 จุดเสี่ยงไวรัส 2009
ถึงคิว! ประเทศไทยเหยื่อ "หวัด 2009"
ป้องกัน ดูแลตนเอง-ชุมชนให้ปลอดภัยจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
รู้จัก-ป้องกัน รับมือหวัด 2009
วิธีป้องกันและควบคุมไข้หวัด 2009
สุขภาพฟิต พิชิตหวัด 2009

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทความเริ่มต้น


ข้าพระเจ้าได้สร้างบล๊อกครั้งแรกรู้สึกดีมาก